ประวัติของภาคเหนือ



ภาคเหนือ

เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย พื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทย มีอาณาเขตติดกับประเทศพม่า จีน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทางด้านการปกครอง ภาคเหนือประกอบด้วยจังหวัดต่าง ๆ 15 จังหวัด คือ พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร ตาก สุโขทัย แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และแม่ฮ่องสอน (สนิท สมัครการ 2520:2) ทั้ง 15 จังหวัดนี้แม้จะรวมกันเรียกว่าภาคเหนือ ก็ยังมีลักษณะเฉพาะที่ต่างกันอยู่บ้าง เช่น กลุ่มพิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย กำแพงเพชร มักเรียกว่าภาคกลางตอนบน เพราะวัฒนธรรมมีส่วนคล้ายกับภาคกลาง จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีวัฒนธรรมที่มีลักษณะเป็นกลุ่มไทยใหญ่ผสมกับพม่า เพชรบูรณ์ ลักษณะโน้มไปทางภาคอีสาน ที่เป็นกลุ่มวัฒนธรรมภาคเหนือจริง ๆ คือ จังหวัดลำปาง ลำพูน เชียงใหม่เชียงราย พะเยา กลุ่มจังหวัดดังกล่าวนี้เรียกว่า คนเมือง หรือ ยวน หรือ ไทยยวนซึ่งหมายถึงโยนก ส่วนจังหวัดแพร่ และน่าน ก็มีลักษณะของตัวเองเช่นเดียวกัน

คนภาคเหนือในประวัติศาสตร์
เดิมคนไทยแยกกันอยู่เป็นกลุ่ม ๆ กระจัดกระจายอยู่ในแหลมอินโดจีน ชาวไทยที่อยู่ทางภาคเหนือจะตั้งบ้านเรือนอยู่พื้นที่ราบระหว่างเขา เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คนไทยที่อยู่ทางเหนือมีการสร้างบ้านแปงเมือง มีกษัตริย์ปกครองสืบมา ที่ปรากฏชัดเจนคือ อาณาจักรน่านเจ้าอยู่บริเวณแคว้นยูนนานของจีน อาณาจักรนี้ถูกจีนตีแตกเมื่อ พ.ศ. 1796 (กองวัฒนธรรม 2539:41) หลังจากนั้นอาณาจักรเชียงแสนซึ่งเริ่มตั้งเมืองมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16 ก็เริ่มขยายเป็นอาณาจักรขึ้นแทน ครั้นถึงพุทธศตวรรษที่ 18 คนไทยกลุ่มใหญ่ที่สุดก็รวมตัวกันตั้งบ้านเมืองแยกเป็น 3 อาณาจักรชัดเจน คือ อาณาจักรเชียงแสนอยู่ทางภาคเหนือ อาณาจักรสุโขทัยอยู่ภาคกลางและภาคใต้ อาณาจักรล้านช้างคือดินแดนฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขง ปัจจุบันคือประเทศลาวและภาคอีสานของไทย
พญามังรายผู้ก่อตั้งอาณาจักรล้านนา

พญามังรายเป็นโอรสของพญาลาวเมง และนางอั้วมิ่งจอมเมือง (นางเทพคำข่ายหรือคำขยาย) ธิดาท้าวรุ่งแก่นชายเมืองเชียงรุ่ง พญามังรายครองเมืองเงินยาง พ.ศ.1804 ต่อมาขยายอาณาเขตและยึดเมืองหริภุญชัย (เมืองลำพูน) ได้ราว พ.ศ. 1835 สร้างเวียงกุมกามราว พ.ศ. 1837 แต่พื้นที่ตั้งเมืองเป็นที่ลุ่ม น้ำท่วม จึงสร้างเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.1839 เชียงใหม่จึงเป็นศูนย์กลางแห่งอาณาจักรล้านนาต่อมา (สรัสวดี อ๋องสกุล 2539:101-107)

อาณาจักรล้านนามีวิวัฒนาการแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

สมัยสร้างอาณาจักร (พ.ศ.1839-1898) เริ่มจากพญามังรายสร้างเมือง รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ในแอ่งเชียงรายและขยายอำนาจลงสู่แอ่งเชียงใหม่ ลำพูน โดยรวบรวมเมืองสำคัญไว้ ได้แก่ เชียงราย เชียงแสน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา และมีการส่งราชบุตรไปครองเมืองเชียงตุง เมืองนาย เป็นต้น มีกษัตริย์ปกครองต่อกัน 5 พระองค์ จนถึงสมัยพญาผายู
สมัยอาณาจักรล้านนารุ่งเรือง (พ.ศ.1898-2068) เริ่มตั้งแต่สมัยพญากือนาจนถึงสมัยพญาแก้ว เป็นระยะเวลา 170 ปี ความเจริญสูงสุด คือ สมัยของพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ.1984-2030) สมัยนี้ได้รับยกย่องว่าเป็นยุคทองแห่งล้านนาไทย ได้ขยายอาณาเขตถึงเมืองแพร่ เมืองน่าน แผ่อิทธิผลถึงรัฐฉาน และเมืองหลวงพระบางด้วย ด้านพุธศาสนามีความเจริญรุ่งเรือง มีการสังฆายนาพระไตรปิฏก ครั้งที่ 8 ของโลก
สมัยอาณาจักรล้านนาเสื่อมและสลาย (พ.ศ.2068-2101) เริ่มตั้งแต่สมัยพญาเกศเชษฐราชจนตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าเป็นเวลา 33 ปี ครั้น พ.ศ. 2101 สมัยท้าวแม่กุ บุเรนองก็ยึดเชียงใหม่ จากนั้นล้านนาก็ตกอยู่ใต้อำนายพม่าถึง 200 ปีเศษ จนถึง พ.ศ.2317 สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เชียงใหม่จึงเป็นเมืองประเทศราชของไทย ต่อมาหัวเมืองทางภาคเหนือก็เป็นจังหวัดต่าง ๆของราชอาณาจักรไทย และมีความเจริญก้าวหน้าตามลำดับจนถึงปัจจุบัน
ลำดับกษัตริย์แห่งล้านนา

1. พญามังราย ครองราชสมบัติ พ.ศ. 1804-1854
2. พญาไชยสงคราม “ พ.ศ. 1854-1868
3. พญาแสนพ “ พ.ศ. 1868-1877
4. พญาคำฟู “ พ.ศ. 1877-1879
5. พญาผายู “ พ.ศ. 1879-1898
6. พญากือนา “ พ.ศ.1898-1928
7. พญาแสนเมืองมา “ พ.ศ.1928-1944
8. พญาสามฝั่งแกน “ พ.ศ.1945-1984
9. พระเจ้าติโลกราช “ พ.ศ. 1984-2030
10. พญายอดเชียงราย “ พ.ศ. 2030-2038
11. พญาแก้ว “ พ.ศ.2038-2068

หลังจากพญาแก้ว อาณาจักรล้านนาก็ตกอยู่ในอำนาจของพม่าเจ้าเมืองเชียงใหม่ในฐานะเมืองประเทศราชของไทย

1. พระจ้ากาวิละ ครองราชสมบัติ พ.ศ. 2325-2356
2. พระยาธรรมลังกา “ พ.ศ. 2358-2364
3. พระยาคำฟั่น “ พ.ศ. 2366-2368
4. พระยาพุทธวงศ์ “ พ.ศ. 2369-2389
5. พระเจ้ามโหตรประเทศ “ พ.ศ. 2390-2397
6. พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ “ พ.ศ. 2399-2413
7. พระเจ้าอินทวิชยายนนท์ “ พ.ศ. 2416-2439
8. พระเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ “ พ.ศ. 2444-2452
9. พลตรีเจ้าแก้วเนาวรัฐ “ พ.ศ.2454-2482

อาณาจักรล้านนาแบ่งการปกครองออกได้ ดังนี้

บริเวณเมืองราชธานี ได้แก่เมืองเชียงใหม่ ลำพูน อำนาจสิทธิขาดเป็นของพระมหา
กษัตริย์ เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจเมืองที่ปกครองโดยข้าหลวง หรือเจ้านายเชื้อพระวงศ์ ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับเมือง
หลวงอย่างใกล้ชิด แต่เจ้าเมืองก็มีสิทธิ์และเป็นอิสระในการจัดการปกครองบ้านเมืองเมืองประเทศราช เป็นเมืองที่อยู่ห่างไกล เจ้าเมืองยอมรับความด้อยกว่า โดยส่งบรรณาการมาให้เมืองใหญ่ แสดงความผูกพันซึ่งกันและกัน
ส่วนการปกครองบังคับบัญชาแบ่งยศชั้นเป็นพันนา ซึ่งหมายถึง การแบ่งผืนดินเป็นเมืองต่าง ๆ เช่น เชียงราย 32 พันนา พะเยา
พันนา ฝาง 5 พันนา ผู้ครองพันนามียศเป็น หมื่นนาล่ามนา พันนาหลัง และแสนนา ส่วนพื้นที่ปกครองที่เล็กกว่า คือ ปากนา ปากนาหนึ่งมีคน 500 หลังคาเรือน (สรัสวดี อ๋องสกุล 2538:154-159) การควบคุมแบบพันนานี้จะควบคุมใน 2 ลักษณะ คือ ควบคุมให้มีการส่งส่วยแก่เมืองที่สังกัด และควบคุมการเกณฑ์แรงงาน “เมือง” จะเกณฑ์ได้ทั้งในยามปรกติและในยามสงคราม ดังนั้นการควบคุมจึงหมายถึงให้ผู้มีตำแหน่งดูแลควบคุมไพร่ด้วย


ที่มา:http://www.thaifolk.com/doc/northen.htm

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

อยากได้รายละมากกว่านี้ครับ

แสดงความคิดเห็น