เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน


เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน

ประวัติความเป็นมา

ได้มีการค้นพบปูน้ำจืดซึ่งมีสีสันสวยงามชนิดใหม่ของโลกในปี พ.ศ.2536ในพื้นที่ป่าดูนลำพัน ตำบลนาเชือก อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม ภายหลังได้ขอพระราชทานชื่อว่า "ปูทูลกระหม่อม" ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งเดียวที่พบปูชนิดนี้ ดังนั้นเพื่อเป็นการอนุรักษ์ผืนป่าดูนลำพันแห่งนี้ตลอดจนทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่ารวมทั้งเพื่อเป็นการป้องกันภัยคุกคามและปัญหาการบุกรุกพื้นที่และระบบนิเวศ ซึ่งจะส่งผลให้ปูทูลกระหม่อมสูญพันธุ์ได้ทางจังหวัดมหาสารคามและกระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมจึงร่วมกัน พิจารณาประกาศให้พื้นที่ป่าดูนลำพัน เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยออกเป็นประกาศกระทรวงฉบับที่ 7 เมื่อปี พ.ศ.2539 ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535
ต่อมากรมป่าไม้โดยส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้ส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจพบว่านอกจากปูทูลกระหม่อมแล้ว ป่าดูนลำพันแห่งนี้ยังมีความหลากหลายทางธรรมชาติ ทั้งพืชพันธุ์และสัตว์ป่าจึงได้ดำเนินการเสนอต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และได้มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2541 โดยนายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดให้พื้นที่สาธารณประโยชน์ป่าดูนลำพันในท้องที่ตำบลนาเชือก อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคามให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพันตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 116 ตอนพิเศษ 40 ลงวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2542

สถานที่ตั้งและอาณาเขต

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน ตั้งอยู่ในท้องที่ ตำบลนาเชือกอำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม ระหว่างเส้นละติจูดที่ 103 องศา 01 ลิปดา 30 ฟิลิปดา เส้นลองติจูดที่ 15 องศา 45 ลิปดา 57 ฟิลิปดา ระวางที่ 5640 IV พิกัด 48 QUC 891442 พิกัด 889445 อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอนาเชือกประมาณ 3 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมด 343 ไร่

สภาพพื้นที่โดยทั่วไปพื้นที่ของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพันเป็นพื้นที่ขนาดเล็กสูงจากระดับน้ำทะเล 180 ถึง 200 เมตรลักษณะโดยทั่วไปเป็นที่ลุ่มสลับที่ดอนมีคลองชลประทานตัดผ่านกลางพื้นที่ ส่วนบนของพื้นที่ที่อยู่ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 219 (บรบือ-นาเชือก-พยัคฆภูมิพิสัย)มีลักษณะของพื้นที่เป็นที่ดอนลาดเท ลงสู่แนวคลองชลประทาน ลักษณะของดินเป็นดินร่วนปนทรายความเค็มสูงมีสีแดง ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เนื่องจากผิวหน้าดินถูกนำไปก่อสร้างถนนแผ่นดินหมายเลข 219 พื้นที่บริเวณนี้จึงจัดเป็นพื้นที่บริการไว้คอยบริการต้อนรับนักท่องเที่ยวมีอาคาร สำนักงาน และบ้านพักของเจ้าหน้าที่ๆ ส่วนพื้นที่ที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของคลองชลประทานคิดเป็น 60%ของพื้นที่ลักษณะเป็นที่ราบลุ่มมีหนองน้ำขนาดใหญ่ที่เรียกว่า "หนองดูน" ซึ่งมีตาน้ำไหลผุดขึ้นมาตามธรรมชาติ ดินบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์มีและความชื้นสูงระดับน้ำใต้ดินมีความลึกจากผิวดินโดยเฉลี่ยประมาณ 1-2 เมตรพื้นที่บริเวณนี้จึงเป็นที่อยู่อาศัยของปูทูลกระหม่อม

ลักษณะภูมิอากาศ

ในฤดูร้อนอากาศร้อนอบอ้าวเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม-มิถุนายน โดยอุณหภูมิสูงสุดวัดได้ประมาณ 37 องศาในเดือนเมษายน ความชื้นสัมพัทธ์ สูงสุด 93% ต่ำสุด 73% ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม มีปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,280 มิลลิเมตร/ปี โดยเดือนที่มีฝนตกมากที่สุดคือเดือนกันยายน เฉลี่ย 386 มิลลิเมตรความชื้นสัมพัทธ์ สูงสุด 93% ต่ำสุด 84% (สถิติปี พ.ศ.2545) ฤดูหนาว อุณหภูมิค่อนข้างเย็นอากาศแห้งแลงและมีลมแรง
พืชพันธุ์และสัตว์ป่าสภาพพื้นที่ป่าของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพันมีลักษณะค่อนข้างพิเศษคือพื้นที่ที่อยู่ด้านทิศตะวันออก ของคลองชลประทาน มีสภาพป่าเป็นป่าเต็งรังไม้เด่นได้แก่ ไม้แสบงหรือไม้กราด และต้นรวงไซ พืชสมุนไพรที่พบเช่นโด่ไม่รู้ล้ม ขี้อ้น หยาดน้ำค้าง เป็นต้น ส่วนพื้นที่ป่าที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของคลองชลประทาน มีสภาพป่าที่มีลักษณะเป็น ป่าผสมกล่าวคือป่ากึ่งดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณและสภาพคล้ายป่าพรุ ไม้เด่นที่พบมากได้แก่ ต้นเชือกหรือต้นรกฟ้า ต้นผลู ต้นหว้า ไผ่ป่า ต้นข่อย ต้นแคทุ่ง เฟิน นอกจากนี้ยังมีพืชที่จัดเป็นพืชสมุนไพรมากมายหลายชนิด ได้แก่ เครือเอ็นอ่อน เถาเอ็นอ้า แก้วมือไว ว่านแผ่นดินเย็น กวาวเครือ เท้ายายหม่อม กล้วยไม้ที่พบในป่าดูนลำพันมีหลายชนิด เช่น กะเรกะร่อน คูลู เป็นต้น

ชนิดสัตว์ป่าที่พบส่วนใหญ่เป็นสัตว์ขนาดเล็ก ได้แก่สุนัขจิ้งจอก อีเห็น พังพอน ตะกวด จิ้งเหลนน้อยหางยาวหรือที่เรียกว่างูขา เป็นต้นส่วนสัตว์จำพวกนกพบมากที่สุดทั้งจำนวนชนิดและจำนวนปริมาณโดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวจะมีนกอพยพ ที่หนีความหนาวมาจากประเทศจีนเป็นจำนวนมากเช่น นกยางโทนน้อย นกยางโทนใหญ่ นกยางกอกพันธุ์จีน นกแขวก นกเป็ดแดง เป็นต้น

ที่มา:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น